วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

การศึกษาอาชีวะไทยต้องการความช่วยเหลือ


ผมไม่เคยรู้ว่าโรงเรียนอาชีวะเขาสอนอะไรกันบ้าง จนเมื่อได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถมอเตอร์ไซด์ที่ต้องการปลูกฝังยี่ห้อที่จำหน่ายให้กับเด็กๆอาชีวะตามแผนการตลาดการสร้างความรับรู้ในตรายี่ห้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับนักศึกษาที่เรียนมาทางช่างยนต์ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับแรกๆโดยใช้วิธีการอบรมให้เห็นถึงสมรรถนะของเครื่องยนต์ ใช้การประสานงานกับฝ่ายฝึกอบรมของบริษัทผู้ผลิตรถ ส่งช่างไปอบรมเครื่องยนต์ของรถรุ่นใหม่ให้กับนักศึกษาและนำตัวอย่างเครื่องยนต์ไปด้วย จึงได้รับทราบข้อมูลว่า โรงเรียนมีเครื่องยนต์ที่ใช้สอนนักศึกษาเหมือนกันแต่เป็นรุ่นโบราณที่เขาไม่ใช้กันแล้ว( เครื่องรถมอเตอร์ไซด์สมัยใหม่เป็นเครื่องยนต์หัวฉีดแต่เครื่องยนต์ของโรงเรียนเป็นเครื่องยนต์คาบูเรเตอร์) หลักสูตรการสอนด้านเครื่องยนต์ก็เป็นหลักสูตรโบราณ ที่ไม่มีความรู้ด้านเทคโนโลยี่ใหม่ๆที่ทันสมัยที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทั่วไปเลย ผมจึงถามกับตัวเองว่าถ้านักศึกษาเหล่านี้จบไปทำงานจะทำอย่างไรในเมื่อไม่มีความรู้ที่สามารถไปใช้งานได้ทันที ต้องเสียเวลาไปเรียนรู้ใหม่อีกอย่างน้อย6เดือน หรือ1ปี นักศึกษาที่หัวดีหน่อยก็คงไม่ต้องกังวลเพราะพวกเขาจะขึ้นบันไดเรียนไปเรื่อยๆไปสู่เป้าหมายของการเป็นวิศวกร เพื่อจะได้มีเงินเดือนที่ดี ทำงานสบายกว่าซึ่งไม่ใช่เป้าหมายของการเข้ามาเรียนอาชีวะเลย


ผมไม่ได้มีข้อมูลจากโรงเรียนเดียวเพราะโครการที่ทำมีเป้าหมายโรงเรียนเทคนิคของรัฐบาลทั้งหมดด้วย ผมพบว่าสภาพปัญหาเหมือนกันหมด ผมจึงนำเสนอผู้บริหารในพื้นที่3โรงเรียนด้วยกัน ว่าสิ่งแรกที่ผมขออาสาช่วยเหลือคือการประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตรถเพื่อส่งหน่วยฝึกอบรม มาอบรมให้กับอาจารย์ผู้สอนก่อนเพื่อให้อาจารย์มีความรู้ไปสอนต่อ แต่การฝึกอบรมจะเป็นการลงปฏิบัติจริงไม่ใช่สอนแต่ในด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว และจะแจกไฟล์นำเสนอเพื่อให้อาจารย์ใช้สอนนักศึกษาต่อไป ไฟล์นำเสนอของฝ่ายฝึกอบรมไปภาพเคลื่อนไหวเข้าใจง่าย พร้อมแจกคู่มือบริการเพื่อไว้ศึกษารถรุ่นต่างๆ ตลอดจนถึงหนังสืออะไหล่ที่ต้องใช้ของรถแต่ละรุ่น ผู้บริหารของทั้ง3โรงเรียนเห็นด้วยขณะเดียวกันผมก็ขออนุมัติงบจากเจ้าของบริษัทเพื่อเป็นค่าเลี้ยงอาหารให้กับอาจารย์ที่เข้าอบรม เท่าที่จำได้เพียง3,000บาท ไม่มากเลยสำหรับการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคม เจ้านายอนุมัติให้เดินหน้าได้ ผมจึงจัดอบรมขึ้นที่โรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดโดยได้รับความร่วมมือจากอาจารย์สอนช่างยนต์ของทุกโรงเรียน มาร่วมอบรมกันอย่างพร้อมเพียง เราเตรียมเครื่องยนต์เพื่อการอบรม3หรือ4เครื่องผมจำไม่ได้แล้ว เมื่ออบรมทางด้านวิชาการเสร็จก็ อบรมทางด้านลงมือปฏิบัติจริงต่อ ผมเห็นภาพอาจารย์สนใจลงมือปฏิบัติงานอย่างจริงจังแล้วก็ชื่นใจ ว่าผู้สอนเหล่านี้มีความตั้งใจจริง ถ้าเราผลักดันเขาดีๆ เราจะได้บุคลากรที่มาช่วยกันปูพื้นฐานทางด้านความรู้ให้กับประเทศอย่างขยันขันแข็ง ดูแล้วประเทศจะเห็นอนาคตที่สว่างเจิดจ้า มันอาจจะขาดอะไรไปบ้างในระบบที่ทำให้แนวคิดในการจัดการศึกษาขาดการเชื่อมต่อกับองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เคยมีใครคิดออกว่าจะเชื่อมต่อด้วยวิธีใดซึ่งเป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมต่อกับองค์ความรู้หรือเชื่อมต่อกับชุมชน อดนึกถึงสตีฟ จ๊อปไม่ได้เขาเป็นนักเชื่อมต่อชั้นยอดที่เชื่อมความบันเทิง ความสะดวกสบายของคนใช้ เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต การถ่ายรูปเข้าด้วยกันแล้วสร้างความสุขให้กับคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเขา ผมอยากให้ระบบการศึกษาของเราเป็นอย่างนั้นบ้าง

ผมได้เดินทางไกลไปกว่านั้น มิใช่แค่ให้การอบรมอาจารย์เพียงอย่างเดียว เพราะปัญหาความต้องการบุคลากรที่ตรงสายงานที่บริษัทต้องการนั้นหายากยิ่งและทำอย่างไรถึงจะได้คนเหล่านั้นมา พูดง่ายๆก็คือหาคนมาบรรจุในสายงานที่บริษัทต้องการไม่ได้ เราจะหาทางออกอย่างไร ตัวอย่างเช่นถ้าเราเปิดขายรถมอเตอร์ไซด์บิ๊กไบท์เราจะหาช่างมาจากไหน เพราะช่างบิ๊กไบท์ไม่มีการสอนกันในโรงเรียนเทคนิค และคนที่จะซ่อมบิ๊กไบท์ได้ก็แทบจะนับตัวได้ เราจะทำอย่างไร เรากำลังขยายโชว์รูมขายเรือและ เจ๊ตสกี ไปยังจังหวัดชายทะเล เราจะไปหาช่างที่ไหนมารองรับเพราะเครื่องยนต์เรือไม่มีการสอนกันในโรงเรียนเทคนิคและช่างซ่อมเรือก็หายากเช่นเดียวกัน  จึงมีการปรึกษากับผู้บริหารของโรงเรียนเทคนิคโรงเรียนหนึ่งเพื่อหาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายเป็นความร่วมมือระหว่างเอกชนกับโรงเรียนของรัฐในการผลิตบุคลากรที่เอกชนต้องการโดยโรงเรียนมีส่วนร่วม นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการทวิภาคี ผมเป็นผู้เริ่มต้นความร่วมมือนี้และได้ส่งต่อไปให้ผู้จัดการแผนกที่รับผิดชอบไปสานต่อในรายละเอียดโดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากเจ้าของกิจการ

โครงการทวิภาคีคือโครงการแบบไหน โครงการนี้ก็คือโครงการความร่วมมือในรูปของการเปิดการสอนในวิชาที่เอกชนมีความต้องการโดยการเรียนภาคปฏิบัติที่สถานที่ของเอกชนและเรียนภาคทฤษฎีเบื้องต้นที่โรงเรียนโดยมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในภาคปฏิบัติ ภาคเอกชนจะเป็นผู้สัมภาษณ์นักศึกษาที่จะเข้าเรียน และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเรียนให้ตลอดการศึกษา และเมื่อจบการศึกษาแล้วจะคัดเลือกนักเรียนเหล่านี้เข้าทำงานในในบริษัทต่อไปซึ่งเป็นหลักประกันว่า เอกชนจะสามารถหาบุคลลากรได้ตรงตามความต้องการจากโครงการนี้ ก่อนที่โครงการนี้จะเริ่มต้นผมก็ออกจากงานที่บริษัทนี้ไปก่อน แต่ก็ติดตามจากอาจารย์ที่มีส่วนร่วมก็ทราบว่าโครงการนี้ได้ดำเนินการอยู่ 

อีกโครงการหนึ่งก็คือความร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะเกษตร ในการเปืดการอบรมความรู้ให้กับประชาชนที่สนใจจะเพิ่มพูนความรู้ฟรี หลักการก็คือวิทยาลัยจะอบรมความรู้ให้กับประชาชนในด้านการเกษตรฟรี โดยวิทยาลัยได้จัดเตรียมสถานที่ต่างๆไว้เพื่อบริการประชาชน ทางบริษัทของผมเคยเข้าไปช่วยอบรมเรื่องเครื่องยนต์ให้กับนักศึกษาด้านจักรกลเกษตรและเคยร่วมส่งช่างไปบริการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้กับรถมอเตอร์ไซด์ในโครงการบริการประชาชนของโรงเรียน โรงเรียนจึงขอให้ทางบริษัทส่งช่างซ่อมเครื่องยนต์ไปร่วมเป็นวิทยากรสอนเรื่องการซ่อมมอเตอร์ไซด์ด้วย เราเซ็นสัญญากันเรียบร้อย สุดท้ายผมก็ลาออกจากบริษัทเสียก่อน แต่ก็คิดอยู่เสมอว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะเข้าร่วมโครงการแบบนี้เพราะเคยอ่านหนังสือมาหลายปีแล้วว่าในอเมริกา มีซีอีโอที่เกษียณท่านหนึ่งได้จัดทำโครงการสอนเด็กที่ด้อยโอกาสฟรี แต่หลักสูตรการสอนเข้มงวดจริงจัง จนเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานเอกชนที่รับลูกศิษย์จากที่นี่ไป ซีอีโอท่านนี้ได้ขอแรงเพื่อนฝูงที่มีใจศรัทธามาช่วยเหลือ คนเหล่านี้มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการบริหารงาน จึงรู้ว่าจะต้องกำหนดมาตรฐานอย่างไรเพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับของบริษัทต่างๆ

สิ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟังเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องมุมมองวิธีการสอน  ผมมองว่าวิธีการเรียนการสอนในโรงเรียนเหล่านี้น่าเบื่อ ไม่น่าสนใจและไม่ทำให้นักเรียนขนขวายหรือพัฒนาต่อยอด เพราะเนื้อหาของบทเรียน เรียนแต่เรื่องของเครื่องจักรเครื่องกล ไม่ดึงดูดให้อยากไปค้นคว้าต่อ ผมเคยพูดกับอาจารที่สอนว่าทำไมไม่ลองเปลี่ยนวิธีการใหม่ แทนที่จะเรียนจากตำราเรียนเพียงอย่างเดียวทำไมไม่เรียนจากชีวิตจริงบ้าง เช่นเรียนจากการแข่งขันจริงในรายการแข่งขันระดับโลก ถ้าเราจะเรียนเกี่ยวกับเครื่องยนต์  ทำไมเราไม่เปิดอินเตอร์เน๊ตเพื่อสอนเรื่องเครื่องยนต์จากสนามแข่ง โดยให้เห็นภาพการแข่งขัน แล้วชี้ให้เห็นว่ารถที่แชมป์ขี่อยู่นั้นใช้เครื่องยนต์ประเภทไหน เครื่งยนต์เหล่านั้นพัฒนามาได้อย่างไร มีอุปกรณ์ชิ้นไหนบ้างที่เป็นเทคโนโลยี่ใหม่ อุปกรณ์ชิ้นนั้นทำงานอย่างไร เด็กก็จะไม่เบื่อและได้เรียนรู้เทคโนโลยี่ใหม่อยู่เสมอ เขาก็จะคอยติดตามและเล่าเรื่องราวที่เขาได้เรียนให้เพื่อนได้ฟังแล้วรู้สึกอยากจะเรียนและตั้งใจเรียนมากขึ้น เพราะในสนามแข่งแต่ละครั้งก็จะมีเทคโนโลยีใหม่ๆเกิดขึ้นเสมอ ทำให้เขาเท่าทันเทคโนโลยี่ที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันก็ประสานงานกับบริษัทผู้ผลิตรถต่างๆส่งฝ่ายฝึกอบรมมาแนะนำสินค้าใหม่ๆอยู่เสมอ เพราะบริษัทเหล่านี้เขาหวังจะเข้าถึงเด็กๆเหล่านี้อยู่แล้ว

พูดถึงเรื่องนี้แล้วจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การสอนที่จะช่วยให้น่าตื่นเต้นกว่าอุปกรณ์อื่นๆ คือต้องมีจอทีวีขนาด50นิ้วขึ้นไป มีชุดเครื่องเสียง ลำโพงไมค์และเร้าเตอร์ต่ออินเตอร์เน็ท ผมประเมินว่าต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 50,000บาท  หากท่านผู้ใดสนใจจะร่วมด้วยช่วยกันกับโครงการนี้ จะบริจาคเป็นสิ่งของหรือเป็นเงินก็เชิญ นะครับผมจะนำสิ่งของทั้งหมดที่ได้ไปให้กับโรงเรียนเทคนิคสัตหีบ สาขาช่างยนต์ ถ้าเป็นทีวีขอเป็นแบบที่เล่นอินเตอรเน็ตได้ในตัวนะครับ แจ้งความจำนงมาที่ผมได้ สุรชัย พิพัฒน์ศิริศักดิ์ 0813747998 หรืออีเมล์ surachaipipat@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น