วันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2559

โช้คอัพมีไว้ทำไม(Shock Absorber/Suspension)



โช้คอัพที่ติดรถมอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์ที่คุณซื้อมา  นั้นทำหน้าที่อะไร  มีใครเคยตั้งคำถามแบบนี้บ้างไหม และมีผลอะไรกับการขับขี่บ้างรู้ไหม  เราจะมาหาคำตอบเหล่านี้กัน โดยจะเน้นความรู้พื้นฐานเบื้องต้นที่ควรรู้ ส่วนความรู้ที่ลึกกว่านี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละท่านจะค้นคว้าหามาเสริมกันต่อไป


โช้คอัพเป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการขับขี่รถที่ได้รับการออกแบบให้ดูดซับ (Absorb)สภาพถนนที่ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ เพื่อให้ยางรถยึดเกาะถนนตลอดเวลา โช้คอัพจะต้องใช้สปริงเพื่อรองรับน้ำหนักและช่วยสร้างความนุ่มนวลในการขับขี่ ขณะเดียวกันก็มีอุปกรณ์ที่ช่วยหน่วงแรงสปริงที่กระโดดขึ้นลงไม่ให้เด้งอย่างอิสระที่เราเรียกว่าแรงหน่วง(Damper) เวลาที่สปริงเด้งขึ้นหรือเด้งลง โช้คจะทำหน้าที่หน่วงเอาไว้ไม่ให้เด้งอย่างอิสระ ตามแรงสปริง
ถ้าสปริงเด้งอย่างอิสระไม่มีแรงหน่วงควบคุมจะเกิดอะไรขึ้น รถก็จะเกิดการเด้งขึ้นลงเมื่อขับผ่านถนนที่ไม่เรียบ  ใครที่เคยนั่งรถที่โช้คเสียจะรู้ดี สภาพก็คือรถเด้งไม่หยุดเวลานั่งแล้วรู้สึกไม่สบายต้องคอยเกร็งตลอดเวลา รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทางเหลือเกิน ที่อันตรายไปกว่านั้นก็คือล้อรถไม่เกาะถนน เวลาเข้าโค้งก็ต้องคอยภาวนาไม่ให้หลุดโค้ง หรือคิดถึงหลวงพ่อที่เคารพ

แรงหน่วงของโช้คมี2แรงด้วยกันคือ

1.แรงดึง(Extention damping force)หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Rebound  เวลาดูสเปคโช้คจะแจ้งว่าโช้ครุ่นนี้ปรับ Rebound ได้ ก็คือการปรับไม่ให้สปริงเด้งขึ้นมากน้อยตามสเปคของแต่ละโรงงานที่จะแจ้งว่าปุ่มReboundสามารถปรับความละเอียดได้แค่ไหน บางโรงงานปรับ20คลิก บางโรงงาน30คลิก บางโรงงานเป็นตัวปรับหลอกปรับอะไรไม่ได้จริงแค่ใส่ให้ดูสวยงามเท่านั้นและดูว่าเป็นโช้คราคาแพงหลอกชาวบ้านหากินไปวันๆ

2.แรงกด(Compression damping force)หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Compression สเปคโช้คจะระบุว่าโช้ครุ่นนี้ปรับCompressionได้ จะกี่คลิกหรือปรับได้ขนาดไหนก็อยู่ที่โรงงานแต่ละโรงอีกเช่นกัน เป็นแรงที่คอยหน่วงสปริงไม่ให้เด้งลงได้ตามอิสระ เพื่อหน่วงการทำงานของสปริงช่วงที่สปริงกดลง

ตัวปรับแรงหน่วงโช้คทั้ง2แรงนี้จะมีเฉพาะโช้คแต่งราคาแพง หรือโช้คติดรถราคาแพงเท่านั้น โช้คทั่วไปที่ติดรถมาไม่มีปุ่มปรับแรงหน่วงมาให้ จะเป็นการปรับค่านี้มาเป็นค่ามาตรฐานในตัวโช้คเลยจากโรงงาน ฉะนั้น เวลาขับรถปกติทั่วไปก็จะไม่รู้สึกเท่าไร แต่ถ้าขับด้วยความเร็วสูงก็จะรู้สึกควบคุมไม่ได้ทั้งการเข้าโค้งเช่นโช้คนิ่มไป ขับแล้วย้วย ควบคุมรถลำบาก จึงได้มีการเปลี่ยนโช้คเป็นโช้คแต่ง ยี่ห้อแพงมากแพงน้อยตามแต่กำลังทรัพย์ที่มีหรือตามแต่รสนิยมที่ยึดติดอยู่

สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งของโช้คอัพก็คือต้องปรับความอ่อนแข็งของสปริงโช้คได้ ภาษาโช้คอัพเขาเรียกว่าPreload ซึ่งคุณสมบัติประการนี้ก็เพื่อปรับโช้คตามน้ำหนักคนนั่ง รถทั่วไปโดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซด์จะมีตัวปรับสปริงอ่อนแข็งได้อยู่แล้วเป็นมาตรฐานจากโรงงาน ยกตัวอย่างโช้คอัพรถฮอนด้าดรีมจะเห็นว่ามีตัวโยกที่โช้คมีสัญญลักษณ์เป็นรูปตุ้กตา ถ้านั่งสองคนก็ดันคันโยกไปทางหนึ่งถ้านั่งคนเดียวก็ดันคันโยกไปอีกทางหนึ่ง ถ้าเป็นโช้คแต่งก็ปรับตรงด้านบนของสปริงหรือด้านล่างแล้วแต่การออกแบบของแต่ละรุ่น

สรุปก็คือโช้คอัพทำหน้าที่ในการดูดซับแรงหน่วงของสปริงที่เป็นอุปกรณ์ช่วยทำให้รถนุ่มนวล แต่สปริงมีข้อเสียคือจะเด้งตลอดเวลาจนกว่าพลังงานที่ใช้จะหมดลง ทำให้ถ้าใช้แต่สปริงอย่างเดียวหรือโช้คเสียจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในการขับขี่เพราะรถไม่เกาะถนน ควบคุมไม่ได้ เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงขับเข้าโค้ง จึงต้องหมั่นคอยบำรุงรักษาโดยการตรวจสอบการทำงานของโช้คอยู่อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยเมื่อถึง10,000กิโลเมตร หรือเมื่อต้องเดินทางไกลระยะยาว สำหรับรถที่ใช้ในทางฝุ่นควรตรวจสอบทุก3เดือน เพราะฝุ่นจะเข้าไปทำลายซีลโช้คและโช้คอาจเสียก่อนถึงอายุอันควร

วิธีทดสอบง่ายๆว่าโช้คเสียหรือไม่ ให้กดตัวรถดู ถ้ามอเตอร์ไซด์ให้เช็คโช้คหน้าด้วยการกดทีแฮนด์หน้าแล้วปล่อยแรงกดถ้าช่วงหน้ายังเด้งอยู่เมื่อปล่อยมือไม่กดแล้ว แสดงว่าโช้คเสีย  โช้คหลังก็เหมือนกัน ให้กดตรงเบาะหลังแล้วปล่อยถ้ายังเด้งอยู่แสดงว่าโช้คเสียถึงเวลาต้องเปลี่ยนแล้วหละ


2 ความคิดเห็น: